6 วัคซีนเด็ก เสริมภูมิคุ้มกันในหน้าฝน
บทความสุขภาพ
6 วัคซีนเด็ก เสริมภูมิคุ้มกันในหน้าฝน
เมื่อเข้าสู่ ฤดูฝน ที่สภาพอากาศเย็นลงและมีความชื้นสูง เป็นช่วงเวลาที่เชื้อไวรัสและแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ ตามมามากมาย แม้ในยุคนี้ที่ทุกคนตื่นรู้กับโรคระบาดมากขึ้น แต่สำหรับเด็กเล็กที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ อาจมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยได้ง่าย วันนี้เรามี 6 วัคซีนสำหรับเด็ก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันใน “หน้าฝน”
- วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ : การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดประมาณ 1 - 2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโลกในทุก ๆ ปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก : เป็นโรคเกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน ส่วนใหญ่พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม)
- วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก : โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส : ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอน 4 ขวบ ซึ่งเป็นวัคซีนเสริม ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด
- วัคซีนป้องกันเชื้อโรต้า : เชื้อโรต้าสาเหตุสำคัญของโรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (หยอด) สามารถเริ่มให้กับทารกอายุตั้งแต่ประมาณ 6 – 12 สัปดาห์
- วัคซีนป้องกันโรคไอพีดีและปอดบวม : เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ในเด็กทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน, 6 เดือน และ 12 – 15 เดือน
คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมพกสมุดสุขภาพประจำตัวลูกน้อยไปด้วยทุกครั้งที่เข้ารับวัคซีน เพื่อให้กุมารแพทย์ใช้เป็นข้อมูลในการประเมินภูมิคุ้มกันโรค และความต่อเนื่องของวัคซีนเด็กในแต่ละชนิด เด็กทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในหน้าฝน ถ้าลูกมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง กินอาหารได้น้อย อาเจียน อ่อนเพลียง่าย มีภาวะขาดน้ำ หรือมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอบ่อย หายใจเร็ว ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา