รู้ทัน "งูสวัด" ภูมิต่ำเมื่อไหร่ต้องระวัง!

บทความสุขภาพ

25 ม.ค. 2567
ครั้ง

รู้ทัน "งูสวัด" ภูมิต่ำเมื่อไหร่ต้องระวัง!

      โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส เชื่อว่าเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวตามแนวเส้นประสาทเข้าไปซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย โดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลงไม่ว่าจะจากวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลงอย่างโรคเอชไอวี โรคเอสแอลอี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสก็สามารถกำเริบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นมาได้

อาการของโรคงูสวัด เป็นอย่างไร?

  • มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ประมาณ 1-3 วัน ก่อนที่จะมีผื่นสีแดงขึ้นบริเวณที่ปวด
  • ผื่นสีแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นแนวยาว โดยผื่นมักเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือตามแนวเส้นประสาท ไม่กระจายตัวทั่วไป เหมือนตุ่มในผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณผิวหนัง แม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า
  • ต่อมาผื่นจะแตกออกเป็นแผล ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังใน 7-10 วัน
  • หลังผื่นหายยังอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบใน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม

การรักษาโรคงูสวัด 

  • รักษาตามอาการ เช่น หากมีอาการปวดแพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวด ถ้าตุ่มติดเชื้อจนกลายเป็นหนองแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
  • ให้ยาต้านไวรัส หากผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์ให้รับประทานยาต้านไวรัส เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
  • ให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ เป็นต้น

มีวิธีป้องกันโรคงูสวัด

  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ  
  • พยายามผ่อนคลายจิตใจ ไม่ให้เครียดจนเกินไป 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

โรคงูสวัด เป็นโรคติดต่อหรือไม่?

      โรคงูสวัดสามารถติดต่อสู่ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนผ่านการสัมผัสกับตุ่มน้ำใสที่มีเชื้อไวรัส varicella zoster รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำที่สัมผัสกับเชื้อโรคงูสวัดแบบแพร่กระจายผ่านทางการหายใจ ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยโรคงูสวัดออกจากผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคโดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

      วัคซีนจะสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคงูสวัดและช่วยลดความรุนแรงของอาการงูสวัดได้  แนะนำสำหรับวัยสูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป  ที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคอื่น ๆ ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการไข้ มีผื่นตุ่มใส คล้ายงูสวัด อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับยาต้านไวรัส ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น ตาอักเสบ กระจกตาเป็นแผล งูสวัดขึ้นตา หรือติดเชื้อเพิ่มเติม

รู้ทันงูสวัดภูมิต่ำเมื่อไหร่ต้องระวัง.png

 

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png iConsTikTok.png