ริดสีดวงทวาร

บทความสุขภาพ

18 ม.ค. 2565
ครั้ง

ระวัง! ริดสีดวงทวาร ไม่ระวังอาจเป็นเรื้อรังได้

      ปัญหาระบบขับถ่ายยอดฮิตที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย อย่าง “ริดสีดวงทวาร” บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย ที่เหมือนกันแน่ๆ คืออาการเจ็บปวด จนถึงขั้นส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ทำเอาหลายคนจะนั่งยังลำบาก เหมือนวลีโฆษณาติดปากสมัยก่อนที่พูด ว่า “ก็ลมมันเย็น” นั่งไม่ได้จนต้องยืนให้ลมโกรก ซึ่งสาเหตุของริดสีดวงเรื้อรังส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของเรานั่นเอง

ทำความรู้จัก ภาวะริดสีดวงทวาร

      ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ริดสีดวง เป็นภาวะที่หลอดเลือดบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพองจนเป็นหัวริดสีดวง ซึ่งอาจจะมีหัวเดียวหรือหลายหัวก็ได้ แล้วมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดในขณะที่กำลังเบ่งอุจจาระ ทำให้มีเลือดออก โดยริดสีดวงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอก ถ้าเกิดตรงหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังตรงปากทวารหนัก เรียกว่าริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoids) มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน เรียกว่าริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoids) 

อาการของริดสีดวงทวาร

      แม้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ริดสีดวงก็เป็นโรคที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเจ็บปวด อาการจะแตกต่างกันไปตามประเภทของริดสีดวง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • อาการของริดสีดวงภายนอก : จะมีก้อนที่รอบทวารหนักและมีอาการปวด บวม ระคายเคือง หากมี
    อาการแทรกซ้อนก็จะทำให้มีอาการปวด บวมมากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่เมื่อหายดีแล้ว ก้อนดังกล่าวจะไม่ได้หดกลับเข้าไปทั้งหมด ซึ่งหากหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและคันบริเวณรอบปากทวารหนักได้
  • อาการของริดสีดวงภายใน : มีเลือดออกระหว่างเบ่งอุจจาระ แต่จะไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด โดย
    เลือดที่ออกมานั้นจะเป็นเลือดสีแดงสด ปนอุจจาระ หรือไหลหยดหลังอุจจาระเสร็จ

ระยะการดำเนินโรคริดสีดวง

  • ระยะที่ 1 : หัวริดสีดวงอยู่ภายในทวารหนัก ไม่สามารถคลำก้อนริดสีดวงได้
  • ระยะที่ 2 : ก้อนริดสีดวงโผล่ขณะเบ่งอุจจาระ และเมื่อถ่ายเสร็จ ก้อนริดสีดวงจะหายกลับเข้าไปเอง
  • ระยะที่ 3 : ก้อนริดสีดวงโผล่ออกมาขณะเบ่งอุจจาระ ไม่หายไปเองหลังถ่ายเสร็จ ต้องใช้มือช่วยดันกลับเข้าไปในรูทวารหนัก
  • ระยะที่ 4 : ไม่สามารถดันก้อนริดสีดวงกลับเข้าไปได้ และอาจมีอาการบวม อักเสบ ปวดร่วมด้วย

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวาร

      สาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรคนี้ มาจากหลอดเลือดดำใต้ผิวเยื่อบุลำไส้ส่วนปลายและรูทวารมีอาการปูดพอง ซึ่งมาจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ดังนี้

  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • การเบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน
  • พฤติกรรมการยืนหรือเดินนานเกินไป
  • อุปนิสัยการนั่งอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ระหว่างถ่ายอุจจาระ

      นอกจากนี้ ยังรวมถึงกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวง ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก และภาวะตั้งครรภ์ ล้วนส่งผลให้หลอดเลือดดำไม่สามารถกลับเข้าช่องท้องได้อย่างสะดวก


ละเลย จนกลายเป็นเรื้อรัง

      สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราห่างไกลจากอาการริดสีดวงเรื้อรัง คือการดูแลตัวเอง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ ดังนี้

  • รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันท้องผูก
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อขับถ่ายสะดวกขึ้น
  • ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา และไม่เบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ 
  • งดการนั่งอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ขณะถ่ายอุจจาระ
  • เมื่อพบอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

      แม้ว่าโรคริดสีดวงทวารไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่อาจจะทำให้เป็นเรื้อรังได้ ดังนั้นการศึกษาให้ดีถึงอาการและดูแลตัวเอง พร้อมปรับพฤติกรรมก็จะสามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้ และหากมีอาการรุนแรง อย่าอายที่จะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

 

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png