วิตามิน ช่วยเรื่องอะไรบ้าง

บทความสุขภาพ

28 ธ.ค. 2564
ครั้ง

“วิตามิน” ช่วยเรื่องอะไรบ้าง

      วิตามินเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและเป็นสารอาหารที่ร่างกายของคนเราจำเป็นต้องได้รับ เนื่องจากวิตามินมีหน้าที่เป็นตัวช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงานก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงถือว่าวิตามินมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบการทำงานในร่างกาย ให้ร่างกายได้รับการบำรุงและฟื้นฟู ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิตามินจะแบ่งออกเป็นหลัก 2 ชนิด คือ

 

วิตามินชนิดที่ละลายในน้ำ
  • วิตามินบี 1 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท หัวใจ และทางเดินอาหาร จะเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องรับประทานอาหารหรืออาหารเสริม โดยพบมากในอาหารประเภทธัญพืช เนื้อสัตว์ นม ไข่แดง ผัก และมันเทศ
  • วิตามินบี 2 ช่วยในการเจริญเติบโต ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก ช่วยบำรุงเส้นผม เล็บ และผิวหนัง โดยจะพบมากในอาหารประเภทนม โยเกิร์ต ชีส ถั่ว ผักใบเขียว ตับ ไต และปลา
  • วิตามินบี 3 มีความจำเป็นต่อระบบประสาทและการทำงานของสมอง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต ช่วยรักษาอาการร้อนใน โดยจะพบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ ขนมปังโฮลวีต ถั่วลิสง อินทผลัม ลูกพรุน และอะโวคาโด
  • วิตามินบี 5 ช่วยในกระบวนการสร้างเซลล์ต่างๆ การเจริญเติบโตของร่างกาย และการพัฒนาของระบบประสาทส่วนกลาง มีความจำเป็นอย่างมากต่อการทำงานของต่อมหมวกไต รวมไปถึงการช่วยสร้างเสริมภูมิต้านทาน โดยจะพบมากในอาหารประเภทเนื้อไก่ เนื้อวัว ตับ มันฝรั่ง เมล็ดทานตะวัน ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และผักสีเขียว
  • วิตามินบี 6 ช่วยป้องกันโรคทางประสาทและโรคผิวหนังหลายชนิด และมีส่วนช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนและไขมันได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรง โดยจะพบมากในอาหารประเภทปลา ตับ ไข่ รำข้าว จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี วอลนัต กะหล่ำปลี และแคนตาลูป
  • วิตามินบี 7 ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ การผลิตกรดไขมัน การเผาผลาญไขมันและโปรตีน ช่วยป้องกันผมหงอกและหนังศีรษะล้าน ช่วยเกี่ยวกับเรื่องผิวหนังอักเสบ โดยจะพบมากในอาหารประเภทนม ดอกกะหล่ำ ไข่แดง แป้งถั่วเหลือง งา และปลาแซลมอน
  • วิตามินบี 9 ช่วยบำรุงผิวพรรณและสุขภาพ ช่วยรักษาปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอได้ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ช่วยป้องกันการพิการของเด็กทารกแรกเกิด โดยจะพบมากในอาหารประเภทผักใบเขียวเข้ม แครอท แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด และถั่ว
  • วิตามินบี 12 ช่วยบำรุงประสาททำให้ระบบประสาทแข็งแรง ช่วยเพิ่มสมาธิ ความจำ และการทรงตัว ช่วยบรรเทาอาการหงุดหงิด ลดความเครียด โดยจะพบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ตับ นม เนย ไข่แดง โยเกิร์ต ชีส และอาหารหมักดอง
  • วิตามินซี ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ และลดการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง ช่วยในการรักษาและป้องกันโรคหวัด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยต้านโรคมะเร็ง โดยจะพบมากในผลไม้ตระกูลส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ฝรั่ง ผักใบเขียว มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ มันฝรั่ง และมะละกอ
    **วิตามินบีจะต้องรับประทานร่วมกันจึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแยกรับประทาน เพราะแต่ละตัวจะทำงานเสริมซึ่งกันและกัน โดยวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 ควรรับประทานในปริมาณที่เท่าๆ กัน
วิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน
  • วิตามินเอ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ผิวพรรณ ผม ฟัน เหงือก และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ช่วยสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง ป้องกันการติดเชื้อ ช่วยลดสิว และช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่างๆ โดยจะพบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ที่มีสีเหลือง น้ำมันตับปลา ตับ แครอท ไข่แดง นม เนย ผักตำลึง ยอดชะอม คะน้า ยอดกระถิน และผักโขม
  • วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ช่วยในการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบ ช่วยในการดูดซึมของวิตามินเอ เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้จากการได้รับแสงแดดในช่วงเช้า ส่วนอาหารจะพบมากในอาหารประเภทนม น้ำมันตับปลา ไข่แดง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเฮอร์ริง
  • วิตามินอี ช่วยเกี่ยวกับการบำรุงผิวพรรณและระบบประสาทของร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้หลายชนิด ช่วยป้องกันและสลายลิ่มเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยจะพบมากในอาหารประเภทน้ำมันพืช(น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย) ไข่ จมูกข้าวสาลี ซีเรียลชนิดโฮลเกรน กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ผักใบเขียว และอะโวคาโด
  • วิตามินเค ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว ป้องกันเลือดออกภายใน หรือเลือดไหลไม่หยุด ช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ช่วยป้องกันกระดูกเปราะ โดยจะพบมากในอาหารประเภทผักใบเขียว ไข่แดง ตับ เนื้อหมู นม น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันตับปลา มะเขือเทศ และดอกกะหล่ำ

ข้อควรระวังในการรับประทานวิตามิน

  • ในความเป็นจริงแล้วเพียงแค่การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็เพียงพอสำหรับการรับปริมาณวิตามินที่ร่างกายต้องการแล้ว ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ก่อนแล้วจึงค่อยเสริมวิตามินในส่วนที่ไม่สามารถรับประทานได้เพียงพอ
  • ควรศึกษารายละเอียดข้อจำกัดของวิตามินที่จะรับประทาน ว่ามีผลต่อโรคประจำตัวที่เป็น หรือยาที่รับประทานอยู่หรือไม่
    ควรศึกษาว่าร่างกายควรจะได้รับวิตามินแต่ละชนิดในปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน และไม่ควรรับประทานวิตามินในปริมาณที่สูงเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  • วิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปเป็นระยะเวลานานๆ จะสามารถสะสมในร่างกายจนเป็นอันตรายได้

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png