เช็กอย่างไร? ว่าคุณเป็น "โรคอ้วนลงพุง"
บทความสุขภาพ
เช็กอย่างไร? ว่าคุณเป็น "โรคอ้วนลงพุง"
อ้วนลงพุง หมายถึงโรคอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องมากเกินไป อาจมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการอ้วนลงพุงจะเป็นสาเหตุสำคัญของอีกหลายๆ โรคอันตรายที่จะตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะโรคอ้วนเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมามากมาย ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคอ้วน ไม่ปล่อยให้ตัวเลขน้ำหนักพุ่งเกินเกณฑ์ และควบคุมปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
วิธีเช็กว่าคุณเป็น "โรคอ้วนลงพุง" หรือไม่?
เกณฑ์วินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง สามารถทำโดยวัดขนาดเส้นรอบเอว โดยจะวัดในท่ายืนตรงขณะหายใจออก และควรวัดในตอนเช้าก่อนกินอาหาร โดยวัดที่จุดกึ่งกลางระหว่างขอบล่างของซี่โครงสุดท้าย ถึงจุดสูงสุดของกระดูกสะโพก โดยประชากรชาวไทยหากมากกว่า 90 เซนติเมตรหรือ 36 นิ้วในชาย และมากกว่า 80 เซนติเมตรหรือ 32 นิ้วในหญิง ร่วมกับการพบปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไปใน 4 อย่างดังต่อไปนี้ แสดงว่าคุณเข้าเกณฑ์โรคอ้วนลงพุงแล้ว
- ความดันโลหิตตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
- ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (Triglyceride > 150 mg/dL)
- ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (Fasting Plasma Glucose > 100 mg/dL)
- ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด หรือ High Density Lipoprotein (HDL – Cholesterol) น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้หญิง
ปัจจัยที่ทำให้เกิด “โรคอ้วนลงพุง”
- ปัญหาสุขภาพ หรือโรคประจำตัวที่มีอยู่แต่เดิม เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
- สมดุลของระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานผิดปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- ไม่มีการออกกำลังกาย หรือไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงาน หรือไขมันในแต่ละวันบ้าง กรณีนี้มักเกิดในพนักงานบริษัทที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงานทั้งวันไม่ได้ลุกไปไหน
- มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่รับประทานอาหารเช้า ติดรับประทานอาหารรสหวาน หรือขนมรสหวาน ของมัน ของทอด ของมีน้ำตาล หรือไขมันสูง
- ติดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเครื่องดื่มประเภทนี้มีส่วนทำให้น้ำหนักขึ้นได้ รวมถึงทำให้ระบบในร่างกายไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากพอด้วย
- มีพฤติกรรมกินจุกจิก ประกอบกับไม่ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานจากอาหารเหล่านั้นออกไป
- ความเครียดทำให้ร่างกายผลิตออกซิเจนได้น้อยลง ทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่
- พฤติกรรมการนอนหลับ นอนดึก พักผ่อนน้อยมีส่วนเพิ่มปริมาณไขมันช่องท้อง และทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุงได้
- พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคอ้วนลงพุง ก็มีความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคอ้วนลงพุงได้ แต่มักเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนมากมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมาะสมมากกว่า
คนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปมีปัญหาลงอ้วนลงพุงเกือบร้อยละ 30 โดยการสำรวจสถานการณ์ความอ้วนในประเทศไทยเทียบเคียงกับประชากรเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่าเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน การตระหนักรู้และดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วนคือสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ตัวเลขบนตราชั่ง แต่คือการมีสุขภาพดีในระยะยาว อย่าลืมใส่ใจตัวคุณและคนใกล้ชิดไม่ให้อ้วนลงพุงจนโรครุมเร้า
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา