เคล็ดไม่ลับ! อยากมีลูกต้องทำอย่างไร?
บทความสุขภาพ
เคล็ดไม่ลับ! อยากมีลูกต้องทำอย่างไร?
คู่รักหลายคู่ย่อมอยากมี “ลูกน้อย” มาเติมเต็มความสมบูรณ์ของคำว่าครอบครัว แต่หลายคู่ แม้ว่าจะพยายามเท่าไหร่ ก็ไม่มีท่าทีว่าจะมีลูกเหมือนครอบครัวอื่นกับเขาสักที โดยสาเหตุไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การใช้ชีวิต ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ รวมไปถึงความพร้อมทางด้านสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
อยากมีลูกต้องวางแผนตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
ช่วงวัยที่เหมาะสมของโอกาสในการตั้งครรภ์สูงคือ ช่วงอายุ 20-30 ปี เนื่องจากช่วงวัยนี้ ร่างกายของฝ่ายหญิงจะมีความสมบูรณ์ แข็งแรงและฮอร์โมนหญิงอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ในช่วงวัยนี้ ยังมีโอกาสในการเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น ๆ
มีเพศสัมพันธ์ช่วงไหนมีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด?
การนับวันตกไข่เป็นหนึ่งในวิธีที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนช่วงตกไข่ประมาณ 1-2 วัน จะทำให้อสุจิเข้าไปรอที่รังไข่เพื่อรอให้ไข่ตกลงมา และทำการปฏิสนธิจนเกิดการตั้งครรภ์ในที่สุด ทั้งนี้วันไข่ตกอาจแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน โดยปกติแล้วไข่จะตกในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา ทุกวันนี้แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้ชุดทำนายการตกไข่ (OPKs) สำหรับการวัดการตกไข่ที่แม่นยำยิ่งขึ้น ชุดทำนายนี้จะให้คำเตือนล่วงหน้าว่าไข่ของคุณกำลังจะตกออกมา ดังนั้นคุณจึงสามารถวางแผนได้อย่างเหมาะสม
ควรมีเพศสัมพันธ์บ่อยเท่าใด?
การมีเพศสัมพันธ์แนะนำควรมีวันเว้นวันหรือ 2 วันครั้ง ไม่ควรจะหักโหมมีทุกวัน แม้ว่าการมีทุกวันจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้จริง แต่ความเหนื่อยอาจเพิ่มความเครียดและทำให้ปริมาณของอสุจิลดน้อยลง ไม่แข็งแรงได้ รวมทั้งท่าการมีเพศสัมพันธ์ก็มีส่วนช่วยได้อีกทางหนึ่ง
ท่วงท่าไหนเหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์?
โดยท่ามิชชันนารี หรือท่าที่ผู้หญิงนอนหงายอยู่ด้านล่าง ส่วนฝ่ายชายอยู่ด้านบน เป็นท่าที่สามารถมีลูกได้ง่ายที่สุด นอกจากนี้หลังจากมีเพศสัมพันธ์แนะนำให้ฝ่ายหญิงนอนหงาย โดยเอาหมอนหนุนสะโพกให้ยกสูงขึ้นแล้วค้างเอาไว้อย่างน้อยประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้อสุจิวิ่งไปผสมกับไข่ได้ดียิ่งขึ้น
อาหารชนิดไหนช่วยให้ระบบสืบพันธ์แข็งแรง?
- ผักใบเขียวมีโฟเลตและวิตามินบีสูง ช่วยเร่งการตกไข่ของฝ่ายหญิง และทำให้อสุจิของฝ่ายชายแข็งแรงขึ้น
- ถั่วและธัญพืช มีส่วนช่วยให้ฝ่ายหญิงมีมดลูกแข็งแรงและผลิตไข่ที่มีคุณภาพ
- รับประทานปลามีที่โปรตีน วิตามินดี และไขมันต่ำ เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน เป็นต้น
- ควรรับประทานอาหารที่มี สังกะสี แมงกานีส และเบต้าแคโรทีน เช่น แครอทที่จะช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิและระดับฮอร์โมนเพศโปรเจสเตอโรน ส่วนแอปริคอตมีสารเบต้าแคโรทีนและแมงกานีสสูง ซึ่งสารอาหารทั้งสองชนิดถูกใช้ในการสร้างฮอร์โมน
- อาหารที่มีวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศ
ความเครียดมีผลต่อการมีบุตรยากหรือไม่?
ความเครียดจะส่งผลรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดภาวะไม่ตกไข่ ทำให้ไข่เจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ในฝ่ายหญิง ส่วนในฝ่ายชาย ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน และอสุจิลดต่ำลง
หากพยายามตั้งครรภ์เป็นเวลานานแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตร เพราะการปรึกษาจะช่วยให้ได้รับข้อมูลและคำตอบเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง พร้อมตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติ และทำการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบผลสำเร็จ
สนใจ โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร คลิก! https://www.ratchasima-hospital.com/th/packages/premarital-pre-pregnancy-health-check-up