เตือนระวัง! อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ

บทความสุขภาพ

16 ม.ค. 2568
ครั้ง

เตือนระวัง! อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ
      ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ร่างกายของเราตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะขาดน้ำ ได้ง่ายขึ้น ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือสูญเสียน้ำในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว การขาดน้ำเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แม้ว่าร่างกายมนุษย์จะประกอบด้วยน้ำถึง 60% ของน้ำหนักตัว แต่ในแต่ละวัน เราก็สูญเสียน้ำไปกับกระบวนการต่างๆ เช่น การหายใจ เหงื่อออก และการขับถ่าย ฉะนั้นการดื่มน้ำให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสมดุลของร่างกาย

อาการของภาวะขาดน้ำที่ควรรู้
      อาการเบื้องต้นในระดับปานกลาง เมื่อร่างกายเริ่มขาดน้ำ อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้มีดังนี้ :

  • รู้สึกกระหายน้ำบ่อยครั้ง
  • ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้น
  • เหงื่อออกน้อยแม้ในสภาพอากาศร้อน
  • ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้มกว่าปกติ
  • ท้องผูก
  • รู้สึกมึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียน

      อาการเหล่านี้อาจดูเหมือนไม่รุนแรงในระยะแรก แต่หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำที่รุนแรงขึ้นได้

2.png

 

อาการขาดน้ำรุนแรงที่ต้องรีบพบแพทย์
      หากร่างกายขาดน้ำในระดับรุนแรง จะมีอาการดังต่อไปนี้ :

  • กระหายน้ำอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว
  • ปัสสาวะน้อยมากหรือไม่มีเลย และปัสสาวะมีสีเข้มมาก
  • รู้สึกอ่อนเพลียอย่างมาก
  • มีไข้สูง
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และหายใจหอบถี่
  • มีอาการช็อก หรือหมดสติ

      หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

3.png

 

วิธีป้องกันและรับมือกับภาวะขาดน้ำ
      การดื่มน้ำให้เพียงพอ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณน้ำที่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไปคือ 1.5-2 ลิตรต่อวัน หรือประมาณ 8 แก้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพพิเศษ เช่น โรคไต หรือ โรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่เหมาะสมในการดื่ม

กลุ่มเสี่ยงที่ควรดื่มน้ำมากเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก การออกกำลังกายทำให้ร่างกายสูญเสียเหงื่อมาก จึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการออกกำลังกาย
  • ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง การทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงที่แดดจัด ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าปกติ ควรดื่มน้ำเป็นระยะและสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่มีอาการป่วย หากมีอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือมีไข้สูง ร่างกายจะสูญเสียน้ำในปริมาณมาก ควรดื่มน้ำและอาจพิจารณาเครื่องดื่มเกลือแร่ร่วมด้วยเพื่อชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่เสียไป

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำ

  • โรคลมแดด และตะคริวแดด
  • เกิดอาการช็อก เนื่องจากปริมาตรเลือดต่ำ ความดันโลหิตและออกซิเจนในร่างกายมีจำนวนลดต่ำลง สามารถเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • เกิดอาการชัก จากแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุล กล้ามเนื้อมีการหดตัวและหมดสติได้
  • ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ และไตมีความผิดปกติ เช่น ไตวาย ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

      การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนของประเทศไทยที่มีโอกาสสูญเสียน้ำได้ง่าย การรู้จักสังเกตอาการเบื้องต้นของภาวะขาดน้ำ และป้องกันอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมรับมือกับกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.png

 

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png iConsTikTok.png