วิธีคุมกำเนิดที่คุณใช้ มีโอกาสพลาด "ตั้งครรภ์" กี่เปอร์เซ็นต์
บทความสุขภาพ
วิธีคุมกำเนิดที่คุณใช้ มีโอกาสพลาด "ตั้งครรภ์" กี่เปอร์เซ็นต์
การคุมกำเนิด คือการป้องกันการตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้พลาดตั้งครรภ์ โดยไม่ให้อสุจิผสมกับไข่หรือป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนที่โพรงมดลูก ซึ่งการคุมกำเนิดมีหลากหลายวิธีสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ วันนี้เรามีข้อมูลว่า ‘การคุมกำเนิด’ แต่ละวิธี มีโอกาสพลาดตั้งครรภ์กี่เปอร์เซ็นต์
ห่วงอนามัย (มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก เพียง 0.01-1%) : เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชิ้นเล็ก ๆ ที่มีไว้สำหรับใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของสตรี เพื่อทำให้สภาพในโพรงมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน จึงใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ชั่วคราวได้ดี
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (มีโอกาสตั้งครรภ์ 1-9 %) : คือยาเม็ดคุมกำเนิดที่เป็นแผง มีส่วนประกอบของฮอร์โมนรวมสองชนิด ได้แก่ เอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งยับยั้งการตกไข่และทำให้อสุจิเคลื่อนที่ยากขึ้น บางยี่ห้อมีเพียง 21 เม็ดแล้วเว้นไป 7 วันค่อยเริ่มกินแผงใหม่ แต่ส่วนใหญ่มี 28 เม็ด ซึ่ง 7 เม็ดสุดท้ายเป็นแป้งหรือวิตามินเพื่อป้องกันการลืมกินยา ยาเม็ดคุมกำเนิดมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคบางโรค เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด จึงควรปรึกษาหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้
ถุงยางอนามัย (มีโอกาสตั้งครรภ์ 2-18 %) : คือ อุปกรณ์ที่ใช้คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง (หากใช้อย่างถูกวิธี) สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเอดส์ นอกจากจะใช้เพื่อคุมกำเนิดและป้องกันโรคได้ด้วย
ยาฝังคุมกำเนิด (มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก เพียง 0.01%-0.5%) : โดยเป็นการใช้ฮอร์โมนชนิดเดียว คือ โปรเจสตินที่บรรจุเอาไว้ในหลอดหรือแท่งพลาสติกเล็ก ๆ ขนาดเท่าไม้จิ้มฟันชนิดกลม นำมาฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมนจะค่อย ๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกายและไปยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ตามมา จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้
- ยาฉีดคุมกำเนิด (มีโอกาสตั้งครรภ์ 1-9%) : วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวแบบหนึ่ง โดยจะเป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของสตรีในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด หลังจากฉีดตัวยาจะค่อย ๆ ขับฮอร์โมนออกมา เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในรายที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง ทำได้ง่าย สะดวก และมีราคาถูก
การนับระยะปลอดภัย (มีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 24%) : ระยะปลอดภัยที่ว่าคือ “หน้า 7 หลัง 7” โดยนับจาก ‘วันแรก’ ที่มีประจำเดือน คือ 7 วันก่อน ‘หน้า’ ที่จะมีประจำเดือนวันแรก และ 7 วัน ‘หลัง’ จากวันแรกที่มีประจำเดือนแล้ว เพราะในระยะนี้จะยังไม่มีไข่ตก จึงสามารถมีเพศสัมพันธ์ ได้โดยไม่ตั้งครรภ์ ดังนั้นหากช่วงหน้า 7 หลัง 7 รวมเป็น 14 วันก็ถือว่า “ปลอดภัย” ระดับหนึ่งตามชื่อวิธีการ แต่วิธีการนี้ไม่เหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาไม่แน่นอน หรือมีรอบเดือนรอบสั้นที่สุดกับรอบยาวที่สุดต่างกันมากกว่า 10 วัน (จะต้องจดบันทึกประวัติประจำเดือนมาแล้วหนึ่งปี) หรือช่วงที่มีอารมณ์เครียด ก็สามารถทำให้การตกไข่เปลี่ยนแปลงไปได้
การเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับความพร้อมและความถูกต้องสำหรับแต่ละบุคคล นอกจากประสิทธิภาพแล้ว การคุมกำเนิดแต่ละวิธีก็ยังส่งผลแตกต่างกันบางเรื่องด้วย เช่น ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ไม่เท่ากัน ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ เพื่อรับคำแนะนำเฉพาะตัวที่เหมาะสมสำหรับคุณ
ข้อมูลจาก : Women's Health Advocacy Foundation
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา