ซีเซียม-137 คืออะไร? อันตรายขนาดไหน?
บทความสุขภาพ
ซีเซียม-137 คืออะไร? อันตรายขนาดไหน?
ซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นธาตุกัมมันตรังสี สลายโดยปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา มีลักษณะเป็นของแข็ง สภาพคล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายและปนเปื้อนได้ง่ายหากแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว้ ดังนั้นผู้ที่สัมผัสกับผงซีเซียม-137 นั้น อาจได้รับเข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล การหายใจ หรือการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน เมื่อซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนของอวัยวะต่าง ๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิด #มะเร็ง ของอวัยวะที่ซีเซียม-137 นั้นเข้าไปสะสมอยู่
ประโยชน์ ของซีเซียม-137
- เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
- เครื่องวัดระดับ เพื่อตรวจวัดการไหลของของเหลวในท่อและแทงก์
- เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และอื่น ๆ
- เครื่องหยั่งธรณี ในอุตสาหกรรมขุดเจาะ เพื่อช่วยบอกลักษณะเฉพาะของชั้นหินต่าง ๆ
อันตราย ทางรังสีของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137
สัมผัสระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันทีแต่อย่างใด บางกรณีอาจจะเริ่มเกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง และแผลเปื่อย
สัมผัสระยะเวลานานและปริมาณมาก อาจเกิดพังผืดที่ปอด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในดวงตา ชักเกร็ง และเสียชีวิต
อาการ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสี
- คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- ปวดท้อง ถ่ายเหลว
- อ่อนเพลีย ขาดน้ำ
- ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสรังสีเกิดการอักเสบ แดง ไหม้ มีการหลุดลอก เกิดเป็นแผล ผิวหนังตาย
- ผมและขนหลุดร่วง ปากเปื่อย
- อาการจากไขกระดูกถูกกด ทำให้เป็นไข้ ติดเชื้อแทรกซ้อน มีเลือดออกง่าย
- ซึม สับสน ชัก โคม่า
การปฏิบัติตัวหลังสัมผัส ลดการปนเปื้อนโดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาดล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีถ้าสามารถทำได้ และควรเก็บเสื้อผ้า ใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่ ลงทะเบียนที่หน่วยงานที่กำหนดเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายนอกพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อันตราย
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา